รูปที่ 1 ป้ายที่หน้าคอกวัวคุณประดับ
"เลี้ยงวัวปีหน้าปลูกหญ้าปีนี้ ปลูกหญ้าเลี้ยงวัวไม่กลัวจน น้ำท่วมฝนแล้งเราไม่กลัว จะขายวัวซื้อข้าว" คำพูดประโยคนี้ผมนำมาจากคุณสมจิตร อินทรมณี อดีตผู้อำนวยการกองอาหารสัตว์ เขียนไว้ตั้งแต่คราวที่ท่านย้ายไปเป็นผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นราธิวาส ระหว่างปี พ.ศ. 2531-2537 ติดเอาไว้หน้าคอกวัวของคุณประดับ เทพจันทร์ (รูปที่ 1) เกษตรกรบ้านโต๊ะเหม ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส แต่ความหมายยังทันสมัยโดนใจพวกเราหลายคน
ทำไมถึงต้องปลูกหญ้าเลี้ยงวัว ?
รูปที่ 2 โคสาวพันธุ์พื้นเมืองที่สถานีพัฒนาอาหารสัตว์เลย
เนื่องจากหญ้าที่ขึ้นอยู่เองตามธรรมชาตินั้นมีคุณค่าทางอาหารสัตว์ต่ำ ผลผลิตก็น้อย และพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์สาธารณะนับวันจะน้อยลงไม่เพียงพอที่จะปล่อยสัตว์ไปเลี้ยงเหมือนแต่ก่อน ซึ่งวัวจำเป็นต้องกินหญ้าเป็นอาหารหลัก หากท่านลงทุนปลูกหญ้าพันธุ์ดีไว้ในพื้นที่ของตนเอง เช่นบริเวณพื้นที่หัวไร่ปลายนา หรือพื้นที่ว่างเปล่า เพียงครั้งเดียวก็จะมีหญ้าใช้สอยไปได้หลายปีทีเดียว เพราะเป็นแปลงหญ้าคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูงเพียงพอสำหรับเลี้ยงวัว ไม่ต้องเสียเวลาต้อนไปเลี้ยงไกลๆ อีกต่อไป ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ให้กับผู้เลี้ยงวัวได้ทางหนึ่ง ซึ่งผู้เลี้ยงวัวจะมีรายได้จากการจำหน่ายตัววัวเป็นรายปี และยังมีรายได้จากการจำหน่ายขี้วัวเป็นรายเดือนอีกด้วย นับว่าเป็นอาชีพที่จะช่วยพยุงฐานะของครอบครัวให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน
การทำแปลงหญ้าแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
- แปลงหญ้าถาวร เป็นพื้นที่ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ต่อเนื่องกันไป ปลูกหญ้าครั้งเดียวดูแลให้ใช้งานไปได้หลายปี เมื่อแปลงหญ้าอายุ 4-5 ปี ก็พรวนดินให้โปร่งขึ้นบ้างเท่านั้น
- แปลงหญ้าหมุนเวียน เป็นพื้นที่ดอน ดินเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากปลูกพืชไร่มานาน เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นต้น ให้ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่นั้นเป็นเวลา 3 ปีแล้วให้สลับไปปลูกพืชไร่ใหม่จะได้ผลผลิตพืชไร่สูงขึ้น ปลูกได้ 2 ปีก็สลับไปปลูกหญ้าหมุนเวียนกันไป
ถ้าจะเริ่มปลูกหญ้าบ้างจะทำอย่างไร?
ถ้าท่านไม่เคยปลูกหญ้ามาก่อนเลย ให้พิจารณาเลือกวิธีปลูกที่เหมาะสมไปใช้ดังนี้
- ปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์เป็นวิธีที่สะดวกและประหยัดที่สุด เกษตรกรนิยมใช้ แต่ใช้ได้กับพืชอาหารสัตว์ที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดพันธุ์เท่านั้น เช่น หญ้ารูซี่ หญ้ากินนีสีม่วง หญ้าอะตราตัม ถั่วฮามาต้า ถั่วคาวาลเคด เป็นต้น
- การเตรียมดิน ต้องไถดะ แล้วเก็บเศษหิน เศษไม้ ออกจากแปลงให้หมดก่อน เสร็จแล้วไถแปรเพื่อปรับพื้นที่ แล้วพรวนดินให้ละเอียด หรืออาจใช้จอบหมุนตีดินก็ได้ ผิวดินที่ละเอียดจะเหมาะกับเมล็ดพันธุ์หญ้าที่มีขนาดเล็ก และการเตรียมดินให้เรียบจะช่วยให้เครื่องจักรที่ลงไปตัดหญ้าทำงานได้สะดวกขึ้น ลดการสึกหรอของเครื่องจักรอีกด้วย
รูปที่ 3 ใช้กิ่งไม้เกลี่ยเมล็ดพันธุ์หญ้าให้สัมผัสดิน
- การปลูกมีให้เลือก 2 วิธีคือ
-วิธีโรยเมล็ดเป็นแถว เป็นวิธีที่ดีโดยการวางแผนระยะระหว่างแถวให้เหมาะกับการใช้เครื่องจักรกลเข้าไปกำจัดวัชพืช เริ่มต้นด้วยการเตรียมหาเมล็ดพันธุ์ ไว้ให้พร้อม ใช้ไม้ขีดดินเป็นร่องลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร ระยะห่าง 30 - 50 เซนติเมตร โรยเมล็ดตามร่อง ไม่ต้องกลบเมล็ด
-วิธีหว่านเมล็ด เป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดแรงงานในการปลูก แต่ต้องหว่านให้เมล็ดกระจายอย่างทั่วถึง วิธีนี้จะได้ต้นหญ้าขึ้นแน่นกว่าการโรยเป็นแถวแต่กำจัดวัชพืชออกยาก อาจต้องใช้วิธีที่เรียกกันว่า “ตัดปรับสภาพ” คือตัดหญ้าครั้งแรกทิ้งไปพร้อมกับวัชพืช ต่อมาหญ้าจะโตไวกว่าและขึ้นคลุมวัชพืชได้ในภายหลัง นอกจากนี้จะต้องไถเตรียมดินเพื่อกำจัดวัชพืชหลายๆครั้งก่อนปลูก เมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์หญ้าตามอัตราที่กำหนดแล้ว เราไม่ต้องกลบเมล็ดแต่ให้ใช้กิ่งไม้เกลี่ยที่บริเวณผิวดิน ให้เมล็ดหญ้าสัมผัสกับดินได้มากขึ้น ควรเลือกหว่านเมล็ดพันธุ์หญ้าหลังฝนตก หรือในวันที่ดินมีความชุ่มชื้นอยู่พอสมควรจะช่วยให้ต้นหญ้างอกได้เร็วขึ้น
- ปลูกด้วยท่อนพันธุ์หากท่านต้องการปลูกหญ้าชนิดที่ไม่ติดเมล็ด ก็จะต้องใช้ท่อนพันธุ์ปลูก เช่นหญ้าแพงโกล่า หญ้าเนเปียร์ หญ้าบาน่า เป็นต้น ให้เลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 2 เดือน
กรณีหญ้าเนเปียร์ หรือหญ้าบาน่า ไม่ชอบน้ำขังให้เลือกปลูกบริเวณที่ดอน หรือทำร่องระบายน้ำไว้ด้วย ตัดลำต้นหญ้าเป็นท่อนๆ ให้มีข้อติดมาด้วย 2 ข้อต่อท่อน นำมาใส่ถุงปุ๋ยเก็บในที่ร่มรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ค้างคืน รุ่งเช้านำไปปลูกในแปลง ใช้ระยะระหว่างหลุม 80 x 120 เซนติเมตร ปักท่อนพันธุ์ลงดินให้เอียง 45 องศา ให้ข้อจมลงดิน 1 ข้อ เหยียบดินให้แน่น
กรณีปลูกหญ้าแพงโกล่า มีลำต้นเล็ก และทนน้ำท่วมขังได้ดี ให้เลือกปลูกได้ทั้งที่ลุ่มและที่ดอน หากเป็นที่ลุ่มให้เตรียมดินแบบนาหว่านน้ำตม หว่านท่อนพันธุ์แล้วใช้ผ้าพลาสติกทาบให้ท่อนพันธุ์จมลงไปในน้ำ แช่น้ำทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วปล่อยน้ำทิ้งรากต้นหญ้าจะยึดดินและแตกยอดอ่อนต่อไป หากปลูกที่ดอนให้ไถเตรียมดินให้ละเอียด เลือกวันที่ดินมีความชื้น หรือหลังจากฝนตก ให้หว่านท่อนพันธุ์ให้ทั่วแปลงแล้วพรวนดินกลบ
ถ้าเลี้ยงวัว 1 ตัวควรมีพื้นที่ปลูกหญ้ากี่ไร่?
เป็นคำถามยอดนิยมของผู้เลี้ยงวัวหน้าใหม่ ให้พิจารณาจากสภาพพื้นที่ และชนิดพันธุ์หญ้าที่จะปลูก ถ้าเป็นพื้นที่ดอนอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ควรปลูกหญ้ารูซี่ ถั่วฮามาต้า สำหรับปล่อยให้วัวแทะเล็มอย่างน้อย 2 ไร่ ต่อวัว 1 ตัว และต้องสำรองฟาง หรือหญ้าแห้งไว้ให้วัวกินในฤดูแล้งด้วย แต่ถ้าเป็นพื้นที่ดินดีมีน้ำตลอดทั้งปี ปลูกหญ้าเนเปียร์ให้ผลผลิตสูงแต่ต้องตัดให้กินจะเลี้ยงวัวได้ไร่ละ 4 ตัว โดยแต่ละวันวัวจะกินอาหารคิดเป็นน้ำหนักแห้งประมาณ 2.5-3% ของน้ำหนักตัว หากคิดเป็นหญ้าสดก็จะกินประมาณ 10-15% ของน้ำหนักตัว
การปล่อยสัตว์ลงไปแทะเล็มในแปลงหญ้ามากเกินไป ก็เป็นปัญหาคือ
- หญ้าจะเจริญเติบโตช้าลง และไม่ค่อยแตกกอ
- วัชพืชจะเจริญเติบโตมากขึ้นแทนหญ้า
- หากปล่อยวัวแทะเล็มหญ้ามากเกินไป ต้นหญ้าจะตาย
เมื่อปลูกหญ้าแล้วจะดูแลรักษาอย่างไร?
ถึงแม้ว่าจะเป็นพืชตระกูลหญ้าซึ่งมีความทนทานและเจริญเติบโตเร็วก็ตาม แต่เราก็ต้องดูแลรักษาต้นหญ้าให้ได้ผลผลิตมากๆ โดยทำดังนี้
- กำจัดวัชพืช หากปล่อยวัชพืชไว้จะแย่งอาหารกับหญ้าที่เราปลูก จึงควรกำจัดวัชพืชหลังปลูก 2 สัปดาห์จากนั้นต้นหญ้าก็จะเจริญเติบโตคลุมพื้นที่ได้
- ก่อนปลูกหญ้าควรไถดินกลบวัชพืชก่อน 1 ครั้ง แล้วทิ้งระยะเวลาให้วัชพืชงอกขึ้นมาใหม่จากนั้นไถกลบวัชพืชอีกครั้ง เพื่อลดปริมาณวัชพืชลง จากนั้นคราดดินในแปลงให้ดินละเอียดและเรียบเสมอกัน
- ถ้าปลูกหญ้าเป็นแถว ควรพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืชระหว่างแถว จะช่วยให้ต้นหญ้าสมบูรณ์เร็วขึ้น
- ควรกำจัดวัชพืชในขณะที่ดินแห้ง เพื่อความสะดวกในการทำงานและให้วัชพืชจะได้ตายหมด
- หลังจากปล่อยวัวลงแทะเล็มแปลงหญ้าแล้ว วัวจะเลือกกินแต่หญ้าทำให้เหลือแต่ต้นวัชพืช ฉะนั้นจะต้องหมั่นตัดต้นวัชพืชออกไปจากแปลงอยู่เสมอ ก่อนที่วัชพืชจะออกดอกติดเมล็ด
- ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในแปลงหญ้า เพราะอาจมีผลตกค้างเป็นอันตรายต่อวัว
- การใส่ปุ๋ย
- ปุ๋ยคอกควรใส่ปุ๋ยคอกปีละครั้งประมาณ 2 ตันต่อไร่ หรืออาจใส่น้ำขี้หมูก็ได้ จะช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุลงไปในดิน และทำให้ดินร่วนซุย หญ้าก็จะเจริญเติบโตได้ดี
- ปุ๋ยเคมีใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ในช่วงที่เตรียมดิน และใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) หลังจากตัดหญ้าแล้ว 2 สัปดาห์อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ควรพิจารณาใส่ปุ๋ยเคมีในช่วงที่หญ้าเริ่มฟื้นตัวและดินมีความชื้นเพียงพอ
ค่าใช้จ่ายในการปลูกหญ้ามีอะไรบ้าง?
ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นไม่รวมค่าแรงงานเป็นเงิน 1,230 บาทต่อไร่ ประกอบด้วย ค่าเตรียมดิน 300 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์หญ้า 180 บาท ค่าปุ๋ยเคมี 750 บาท
จะใช้ประโยชน์แปลงหญ้าได้อย่างไร?
ชาวบ้านบางท่านเมื่อปลูกหญ้าเสร็จแล้วไม่ทราบว่าจะตัดได้เมื่อไหร่ และเสียดายจึงปล่อยให้ต้นหญ้าแก่เกินไปเมื่อตัดไปให้วัวกินมันก็ไม่ค่อยกิน เพราะวัวมันชอบหญ้าอ่อนจึงขอแนะนำการใช้ประโยชน์ไว้ดังนี้
- ตัดให้วัวกิน ถ้าตัดหญ้าที่อายุน้อยก็จะได้หญ้าที่อ่อนนุ่มสัตว์ชอบกินและมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ก็ได้ผลผลิตน้อย ถ้าตัดหญ้าในช่วงที่อายุมากเกินไปต้นจะแข็ง และมีคุณค่าทางอาหารต่ำ แต่จะให้ผลผลิตสูง ฉะนั้นเราควรพิจารณาตัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยแปลงที่ปลูกใหม่จะปล่อยให้ต้นหญ้าตั้งตัวดีก่อนตัดหญ้าที่อายุ 90 วัน แต่ครั้งต่อๆไปให้ตัดหญ้าได้ทุกๆ 30-45 วัน โดยการเกี่ยวหญ้าออกจากแปลงต้นหญ้าจะได้รับการกระทบกระเทือนน้อย ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ส่วนข้อเสียคือสิ้นเปลืองแรงงานในการตัด และดินจะเสื่อมสภาพเร็วเนื่องจากสูญเสียแร่ธาตุในดินออกไปพร้อมกับต้นหญ้า
- ปล่อยสัตว์ลงแทะเล็มแปลงหญ้าที่ปลูกใหม่จะต้องปล่อยให้หญ้าตั้งตัวก่อนเช่นกัน ประมาณอายุ 90 วัน คอยสังเกตไม่ให้วัวกินหญ้าจนสั้นเกินไป ต้องย้ายวัวออกไปกินที่แปลงอื่นทิ้งระยะให้หญ้าได้ฟื้นตัวดีแล้วจึงนำวัวกลับมากินใหม่ ข้อดีคือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตัดหญ้า และจะได้รับปุ๋ยจากมูลวัวที่ถ่ายลงในแปลง ข้อเสียคือต้องใช้แรงงานในการเลี้ยงดูวัว และต้นหญ้าถูกเหยียบย่ำเสียหายจึงให้ผลผลิตลดลง
กรมปศุสัตว์ส่งเสริมให้ปลูกหญ้าพันธุ์ใดบ้าง?
มีหญ้าหลายชนิดที่กรมปศุสัตว์แนะนำให้เกษตรกรเลือกใช้ ตามวิธีการเลี้ยงและสภาพของพื้นที่ ฉะนั้นก่อนตัดสินใจปลูกหญ้าชนิดใดควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ และศึกษาให้แน่ใจ ดังนี้
- สภาพพื้นที่ดอน ไม่มีระบบน้ำ ปล่อยวัวลงแทะเล็ม แนะนำพันธุ์ หญ้ารูซี่ ถั่วฮามาต้า
- สภาพพื้นที่ดอน มีระบบน้ำ ตัดให้สัตว์กิน แนะนำ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง1 หญ้าแพงโกล่า หญ้ากินนีสีม่วง ถั่วคาวาลเคด
- สภาพพื้นที่ลุ่ม มีระบบน้ำ ปล่อยสัตว์แทะเล็ม หญ้าแพงโกล่า
- สภาพพื้นที่ลุ่ม มีระบบน้ำ ตัดให้สัตว์กิน แนะนำให้ปลูก หญ้าแพงโกล่า หญ้าอะตราตัม หญ้าพลิแคทูลั่ม
- หญ้ารูซี่ เป็นหญ้าอายุหลายปี ต้นกึ่งเลื้อยกึ่งตั้ง ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด ปลูกด้วยเมล็ด โตเร็ว เหมาะสำหรับปล่อยวัวลงแทะเล็ม ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2-2.5 ตันต่อไร่ต่อปี
- หญ้ากินนีสีม่วง เป็นหญ้าอายุหลายปี ต้นตั้งตรง แตกกอได้ดี ใบใหญ่ อ่อนนุ่ม เหมาะสำหรับตัดให้สัตว์กิน ทนร่มเงาได้ดี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และแยกกอ ไม่ทนต่อน้ำท่วมขัง ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 5-3.5 ตันต่อไร่ต่อปี
รูปที่ 4 หญ้ากินนีสีม่วง - หญ้าเนเปียร์ปากช่อง1 เป็นหญ้าอายุหลายปี ลำต้นตรง เป็นกอ ขนาดใหญ่คล้ายต้นอ้อย มีใบมาก ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ปลูกโดยใช้ท่อนพันธุ์ ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 3-4 ตันต่อไร่ต่อปี
- หญ้าอะตราตัม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ลักษณะต้นเป็นกอ ใบกว้าง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินทีมีความอุดมสมบุรณ์ต่ำ ดินเป็นกรด และมีน้ำขังบ้าง เหมาะสำหรับตัดให้สัตว์กิน ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 5-3.5 ตันต่อไร่ต่อปี
- หญ้าพลิแคทูลั่ม เป็นหญ้าอายุหลายปี ต้นตั้งเป็นกอ เจริญเติบโตได้ในดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทนต่อสภาพแห้งแล้ง และน้ำท่วมขัง ปลูกด้วยเมล็ด ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 5-2.5 ตันต่อไร่ต่อปี
รูปที่ 5 หญ้าพลิแคทูลั่ม - หญ้าแพงโกล่า เป็นหญ้าอายุหลายปี มีลำต้นทอดนอนไปตามพื้นผิวดิน ต้นอ่อนจะตั้งตรง เจริญเติบโตได้ในดินทรายจนถึงดินเหนียว ทนแล้งและทนน้ำท่วมขัง ปลูกขยายด้วยท่อนพันธุ์ ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 5-7 ตันต่อไร่ต่อปี
จะปลูกหญ้าได้เมื่อไหร่ดี ?
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ต้นฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน เพราะดินได้รับน้ำฝนใหม่ มีความชื้นพอเหมาะต่อการงอกของเมล็ดหญ้า ถ้าปลูกหลังฝนตกผิวดินมีความชื้นจะช่วยให้เมล็ดหญ้างอกได้ดี ภายใน 7-10 วัน และเพียงพอต่อการตั้งตัวของต้นหญ้า
- หากดินที่ระดับลึก 20 เซนติเมตร ยังแห้งก็ไม่ควรปลูกให้รอฝนตกลงมาอีกรอบ
- ไม่แนะนำให้ปลูกหญ้าปลายฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกมาก ดินจะฉ่ำน้ำมีความชื้นสูงเมล็ดอาจเน่าเสีย และเกิดการพังทลายของดิน ทำให้เมล็ดหญ้าถูกน้ำพัดพาไป
จะหาซื้อเมล็ดพันธุ์ หรือท่อนพันธุ์หญ้าได้ที่ไหน?
ติดต่อซื้อเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ได้จากชมรมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์แห่งประเทศไทย เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับคำแนะนำขั้นตอนการผลิตจากกรมปศุสัตว์ จึงเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกดีตามมาตรฐาน ตั้งอยู่ที่ 347/19 ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ติดต่อคุณกุ้ง โทร 081-320-2634 หรือที่ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ 91ม. 4 ต.บางกะดี อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000 โทรศัพท์ 02-501-1147 ส่วนท่อนพันธุ์ติดต่อขอได้ฟรีที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ 29 แห่งใกล้บ้านท่่าน
บทสรุป
เลี้ยงวัว 1 ตัวในแปลงหญ้า อาจจะมีอัตราการเจริญเติบโตวันละ 300-400 กรัม คิดเป็นเงินเพียง 15 บาท ดูเหมือนว่าจะมีผลตอบแทนน้อย แต่ถ้าเลี้ยง 5 ตัว ปลูกหญ้า 5 ไร่ ใช้เวลาตัดหญ้าตอนเช้า 30 นาที ตอนเย็นอีก 30 นาที ก็เพียงพอกับความต้องการของวัวทั้ง 5 ตัวแล้ว ท่านยังมีเวลาเหลืออีกมากมาย เงิน 15 บาทต่อวัน หรือ 75 บาทต่อวัน เมื่อครบปีคิดเป็นเงินเท่าไหร่ บางคนอาจจะบอกว่า เท่านี้เองหรือ บางคนอาจจะบอกว่าโอโฮตั้งเท่านี้เชียวหรือ คนที่มีเงินเหลือเก็บขนาดนี้อย่างน้อยก็ไม่ใช่คนจน
จากแนวคิด "ปีนี้ปลูกหญ้า ปีหน้าเลี้ยงวัว ไม่กลัวจน" ได้รับการต่อเติมเป็น "ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ขจัดความยากจน เลี้ยงวัวในแปลงหญ้าเสริมคุณค่าด้วยกระถิน ปลูกหญ้าสวนครัวเลี้ยงวัวหลังบ้าน ได้พลังงานทดแทน (ก๊าซชีวภาพ) หากอดออมเหลือเงินนับแสน พ้นจากความแร้นแค้นและยากจน" ซึ่งวลีดังกล่าวล้วนแต่ให้กำลังใจแก่ผู้ที่คิดเลี้ยงวัวไว้เป็นออมสิน เป็นพื้นฐานการออมไว้ใช้ในวันหน้า เลี้ยงวัวต้องค่อยเป็นค่อยไปต้องใช้เวลา ปีที่ 1 อาจจะเลี้ยงวัวเอาขี้ ปีที่ 2 เลี้ยงเพื่อเอาลูกวัว ปีที่ 3 จึงจะได้ผลผลิตเป็นเนื้อ หรือเป็นนม
"ท่านว่าจะเลี้ยงวัวเพื่อได้อะไร และการเลี้ยงวัวมิใช่วิธีคิดแบบบัญญัติไตรยางศ์"